สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๔๓๘  การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564/2518 โจทก์ได้เสียกับจำเลยโดยถูกจำเลยหลอกลวงว่าจะเลี้ยงดูเป็นภริยาเมื่อโจทก์ตั้งครรภ์จำเลยไม่เลี้ยงดู โจทก์จึงแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนพนักงานสอบสวนเรียกจำเลยไปจำเลยรับว่าได้เสียกับโจทก์จริงรับจะเลี้ยงดูโจทก์เป็นภริยาพนักงานสอบสวนจึงแนะนำให้โจทก์จำเลยไปจดทะเบียนสมรสกันให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไปและได้ทำบันทึกให้โจทก์จำเลยลงชื่อไว้ แต่โจทก์ก็ไม่เลี้ยงดูหรือจดทะเบียนสมรสกับจำเลยดังนี้ แม้จำเลยจะหลอกลวงว่าจะเลี้ยงดูโจทก์เป็นภริยาการกระทำของจำเลยก็หาเป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่ โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวไม่ได้ (นัยคำพิพากษาฎีกาที่ 576/2488) และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาตามบันทึกของพนักงานสอบสวนเพราะมิได้มีข้อกำหนดว่าจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่มีการผิดสัญญาดังกล่าวและมิใช่กรณีผิดสัญญาหมั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1438,1439 ด้วย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2517 การเรียกค่าทดแทนเนื่องจากผิดสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการสมรสนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1438 บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้เรียกได้เฉพาะกรณีที่มีการหมั้นเท่านั้นการที่โจทก์จำเลยตกลงกันว่าจะสมรสหรือจดทะเบียนสมรสโดยไม่มีการหมั้น เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง โจทก์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยหาได้ไม่